บทที่ 2 เรื่องการวิเคราะห์รายการค้า

บทที่ 2 
เรื่องการวิเคราะห์รายการค้า


รูปแบบของกิจการ
รูปแบบของกิจการค้าแต่ละประเภทจะแตกต่างกันออกไปตามสภาพการลงทุนในกิจการลักษณะการจัดตั้ง การดำเนินงาน และความสำคัญทางเศรษฐกิจ แบ่งได้ดังนี้
    1. กิจการเจ้าของคนเดียว  (Single Proprietorship) ได้แก่ กิจการขนาดเล็กที่มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของ เช่น รายค้าย่อย สำนักงานผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ การจัดตั้งทำได้ง่าย เจ้าของดำเนินงานเองและรับผิดชอบในหนี้สินของร้านโดยไม่จำกัดจำนวน ข้อเสียของกิจการค้าเจ้าของคนเดียวคือ เงินทุนมีจำนวนจำกัด การขยายกิจการทำได้ยาก อายุของกิจการจะสิ้นสุดเท่าอายุเจ้าของกิจการหรือน้อยกว่านั้น
    2. ห้างหุ้นส่วน (Partnership) คือ กิจการที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันเป็นเจ้าของโดยมีสัญญาตกลงรวมทุนกันเป็นหุ้นส่วนประกอบการค้าเพื่อหวังกำไร โดยผู้เป็นหุ้นส่วนจะมีทุนเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ห้างหุ้นส่วนแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
      1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnership) คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในหนี้สิน โดยไม่จำกัดจำนวน ห้างหุ้นส่วนประเภทนี้จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ได้หรือไม่จดทะเบียนก็ได้
      2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership)  คือ ห้างหุ้นส่วนที่ประกอบด้วยผู้เป็นหุ้นส่วน 2 จำพวก คือ จำพวกจำกัดความรับผิดชอบ และไม่จำกัดความรับผิดชอบ ห้างหุ้นส่วนจำกัด กฎหมายบังคับให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
    3. บริษัทจำกัด  (Company Limited or Corporation) คือ กิจการที่ตั้งขึ้นในรูปของนิติบุคคลด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน ผู้ที่ลงทุน ซื้อหุ้นของกิจการเรียกว่า “ผู้ถือหุ้น” (Shareholders) ผู้ถือหุ้นต้องรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ การบริหารงานของบริษัทกระทำโดยคณะกรรมการชุดหนึ่ง ซึ่งที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเป็นผู้แต่งตั้ง และบริษัทจำกัดต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจะได้รับส่วนแบ่งกำไรเป็นเงินปันผล (Dividends) บริษัทจำกัดแบ่งเป็น 2 ประเภท
      1. บริษัทเอกชนจำกัด (Private Company Limited) มีจำนวนผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป (ป.พ.พ. มาตรา 1097)
      2. บริษัทมหาชนจำกัด (Public Company Limited) มีจำนวนผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป (พ.ร.บ. บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 16) และต้องจองหุ้นรวมกันอย่างน้อย 5 % ของทุนจดทะเบียน แต่ละคนถือหุ้นไม่เกิน 10 % ของทุนจดทะเบียน และตั้งขึ้นมาโดย มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป ต้องมีคำนำหน้าชื่อว่า “บริษัท” และคำลงท้ายว่า “จำกัด (มหาชน)”


รายการค้า (Business Transaction)
รายการค้า หมายถึง การดำเนินงานในทางการค้าที่ทำให้เกิดการโอนเงินหรือสิ่งของมีค่าเป็นเงินระหว่างกิจการค้ากับบุคคล ภายนอก ซึ่งอาจจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของกิจการค้า
ตัวอย่างรายการค้า
      1. นำเงินสดหรือสินทรัพย์มาลงทุน
      2. ถอนเงินสดหรือสินค้าไปใช้ส่วนตัว
      3. ซื้อสินทรัพย์เป็นเงินสด
      4. ซื้อสินทรัพย์เป็นเงินเชื่อ
      5. ซื้อสินค้าเป็นเงินสดหรือซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อ
      6. ขายสินค้าเป็นเงินสดหรือขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ
      7. รับรายได้ค่าบริการ
      8. จ่ายชำระหนี้
      9. รับชำระหนี้
      10. จ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
      11. กู้เงินจากบุคคลภายนอก
      12. เจ้าของกิจการถอนใช้ส่วนตัว
ตัวอย่างที่ไม่ใช่รายการค้า
      1. การจัดแสดงสินค้า
      2. การเชิญชวนและต้อนรับลูกค้า
      3. การสาธิตสินค้า
      4. การเขียนจดหมายโต้ตอบ
      5. การสอนถามราคา


การวิเคราะห์รายการค้า (Business Transaction Analysis)
การวิเคราะห์รายการค้าเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรบัญชี เป็นขั้นแรกของการจัดทำบัญชี ซึ่งสำคัญมาก เพราะหากวิเคราะห์รายการค้า ผิดก็จะทำให้ขั้นตอนต่อ ๆ ไปผิดไปด้วย เช่น การบันทึกบัญชีในสมุดรายวัน การผ่านบัญชีไปสมุดบัญชีแยกประเภท ตลอดจนถึงการ จัดทำงบการเงินก็ผิดไปด้วย
    1. วิเคราะห์รายการค้าที่เกิดขึ้นว่าทำให้สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของกิจการเปลี่ยนแปลงโดยการเพิ่มขึ้นหรือลดลง อย่างไรบ้าง
    2. รายการค้าที่เกิดขึ้นเมื่อวิเคราะห์แล้ว การเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของนั้นจะต้องทำให้สมการบัญชีเป็นจริงเสมอ กล่าวคือ เมื่อวิเคราะห์รายการค้าแล้ว สินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลง จะต้องเท่ากับ หนี้สินที่เปลี่ยนแปลงบวกด้วยส่วนของเจ้าของที่เปลี่ยนแปลงเสมอ
หลักในการวิเคราะห์รายการค้า 5 ประการ คือ
1. สินทรัพย์เพิ่ม       (+)
ส่วนของเจ้าของเพิ่ม    (+)
2.สินทรัพย์ลด          (-)
ส่วนของเจ้าของลด      (-)
3. สินทรัพย์อย่างหนึ่งเพิ่ม (+)
สินทรัพย์อีกอย่างหนึ่งลด  (-)
4. สินทรัพย์เพิ่ม  (+)
หนี้สินเพิ่ม   (+)
5. สินทรัพย์ลด          (-)
หนี้สินลด    (-)

การวิเคราะห์รายการค้าตามหลักการบัญชีคู่  Double – Entry
หลักการบัญชีคู่ เป็นหลักการบัญชีที่ได้รับการยอมรับและใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งก็คือรายการค้าทุกรายการที่เกิดขึ้น เมื่อได้ทำการ วิเคราะห์แล้วก็จะนำไปบันทึกบัญชี 2 ด้านเสมอ 


การตั้งชื่อบัญชีจากการวิเคราะห์รายการค้า
    1. บัญชีประเภทสินทรัพย์  ให้นำชื่อของสินทรัพย์นั้น มาตั้งเป็นชื่อบัญชี เช่น บัญชีเงินสด บัญชีลูกหนี้ บัญชีอุปกรณ์ บัญชีเครื่องตกแต่ง เป็นต้น
    2. บัญชีประเภทหนี้สิน  ให้นำชื่อของหนี้สินนั้นๆ มาตั้งเป็นชื่อบัญชี เช่น บัญชีเจ้าหนี้ร้านนานา  บัญชีเงินกู้ –ธนาคารกรุงธน  เป็นต้น
    3. บัญชีประเภทส่วนของเจ้าของ (ทุน) ให้นำชื่อส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของมาตั้งเป็นชื่อบัญชี เช่น บัญชีทุน-นางสาวยอดมณี   บัญชีถอนใช้ส่วนตัว  บัญชีรายได้ค่าเสริมสวย  บัญชีเงินเดือน เป็นต้น

  • ลักษณะของบัญชีทุน จะถูกบันทึกทางด้านเครดิตเมื่อมีการลงทุนครั้งแรก ลงทุนเพิ่มและจะถูกบันทึกด้านเดบิตเมื่อมีการถอนทุน
  • ลักษณะของบัญชีถอนใช้ส่วนตัว จะถูกบันทึกทางด้านเดบิต เพราะทำให้ส่วนของเจ้าของลดลง
  • ลักษณะของบัญชีรายได้ จะถูกบันทึกทางด้านเครดิตเมื่อมีรายได้เกิดขึ้น เพราะทำให้ส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้น
  • ลักษณะของบัญชีค่าใช้จ่าย จะถูกบันทึกทางด้านเดบิตเมื่อมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เพราะทำให้ส่วนของเจ้าของลดลง


แบบฝึกหัดท้ายบทที่ 2
1. ข้อใดหมายถึง “กิจการเจ้าของคนเดียว”
ก. Single Proprietorship
ข. Partnership
ค. Company Limited or Corporation
ง. Business Transaction

2. ข้อใดหมายถึง “ห้างหุ้นส่วน”
ก. Single Proprietorship
ข. Partnership
ค. Company Limited or Corporation
ง. Business Transaction

3. ข้อใดหมายถึง “บริษัทจำกัด”
ก. Single Proprietorship
ข. Partnership
ค. Company Limited or Corporation
ง. Business Transaction

4. ข้อใดหมายถึง “รายการค้า”
ก. Single Proprietorship
ข. Partnership
ค. Company Limited or Corporation
ง. Business Transaction

5. “รูปแบบของกิจการค้า” มีกี่ประเภท
ก. 1
ข. 2
ค. 3
ง. 4

6. ห้างหุ้นส่วนแบ่งได้เป็นกี่ประเภท
ก. 1
ข. 2
ค. 3
ง. 4

7. ข้อใดหมายถึง “ห้างหุ้นส่วนสามัญ”
ก. Ordinary Partnership
ข. Limited Partnership
ค. Private Company Limited
ง. Public Company Limited

8. ข้อใดหมายถึง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด”
ก. Ordinary Partnership
ข. Limited Partnership
ค. Private Company Limited
ง. Public Company Limited

9. ข้อใดหมายถึง “บริษัทเอกชนจำกัด”
ก. Ordinary Partnership
ข. Limited Partnership
ค. Private Company Limited
ง. Public Company Limited

10. ข้อใดหมายถึง “บริษัทมหาชนจำกัด”
ก. Ordinary Partnership
ข. Limited Partnership
ค. Private Company Limited
ง. Public Company Limited


เฉลย 1.ก  2.ข  3.ค  4.ง  5.ค  6.ข  7.ก  8.ข  9.ค  10.ง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิชาเสริม Blogger